เป็นโอกาสที่ดีที่จะพูดถึงประเด็นนี้เสียหน่อยในวาระของการ "ทดลองออกอากาศ" ที่จะสิ้นสุด 31 พฤษภาคม 2557 ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นการทดลองออกอากาศเชิงเทคนิคที่สถานีกระจายสัญญาณจัดทำโดยการนำรายการที่ไม่ถือว่าเป็นผังจริงมาออกอากาศไปก่อน รายการในผัง ณ ห้วงเวลาปัจจุบันนี้เรียกว่าเป็นผังเกือบจริงแล้ว (ยกเว้นบางช่องที่อาจจะรู้สึกว่า "เอาอะไรมาออกอากาศเนี่ย?") ซึ่งมีจุดสังเกตให้พูดถึงใน "ความแรง" ของแต่ละช่องที่แข่งขันกัน
ช่องแรกที่จะขอกล่าวถึงคือ PPTV HD ซึ่งแต่เดิมออกอากาศในระบบโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ในช่วงทดลองออกอากาศเชิงเทคนิคนั้น รายการที่ออกอากาศถือเป็นความแปลกใหม่ของผมในการรับชมบนโทรทัศน์ฟรีภาคพื้นดิน เนื้อหาถูกจริต (แม้ตัวเองจะไม่ได้เป็นแฟนละครเกาหลี) ทั้งหมดนี้ผมขอยกความดีให้กับความคมชัดของภาพด้วยที่ชวนให้ดู พิธีกรรายการต่าง ๆ เราก็เคยเห็นจากช่องอื่น (จะเรียกว่าสมองไหลก็ได้มั้ง?) เช่นรายการข่าวก็ได้คนจาก Nation มาเสียเยอะ (อันนี้รวมถึงศิษย์เก่าที่อาจจะแว้บไปที่อื่นด้วย) และที่เห็นอีกคือผู้ประกาศจากช่อง 5 (นั่นอาจจะเพราะ Nation ช่วยช่อง 5 ผลิตรายการข่าวด้วย เลยชักชวนกันมา) รายการสารคดีที่เห็นทีมผู้ผลิตที่เคยร่วมงานกับ ThaiPBS (ท่องโลกอุษาคเนย์) และผู้ผลิตอิสระรายอื่น เช่น เครือ JSL รวมถึงรายการที่ใช้พิธีกรจากเครือของ Grammy และพิธีกรที่เป็นดาราที่เราเคยเห็น เช่น พลอย (แฝดเพชร-พลอย), อ.เผ่าทอง, น้าเน็ก เป็นต้น
ช่องต่อมาคือ Thairath TV HD ซึ่งก็เคยเห็นโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเช่นกัน แต่ก็ได้ยุติการออกอากาศชั่วคราวเพื่อเตรียมเปิดตัวสู่ระบบโทรทัศน์ฟรีภาคพื้นดิน ขึ้นชื่อว่าไทยรัฐเราก็คาดการณ์ว่าจะได้เห็นรายการข่าวที่ดี ซึ่งมันก็ดีในแบบของเขาครับ ชัดเจนในความเป็นไทยรัฐ (ที่ทุกอย่างมีแต่ไทยรัฐ) มีการใช้กราฟฟิคสวยงาม มีการผลิตผู้ประกาศหน้าใหม่ (แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีผู้ประกาศหน้าเดิม โดยดึงบางส่วนมาจากช่อง 5 และสื่อใกล้เคียงอื่น) ส่วนรายการอื่น ๆ นอกจากข่าวนั้น มีการดึงผู้ผลิตอิสระจากอินเตอร์เน็ต เช่น SpokedarkTV (ในนาม NESTAG ซึ่งเคยผลิตรายการ "ประกาศภาวะฉุกคิด" ให้ ThaiPBS) นำรายการมาแปลงเป็นระบบโทรทัศน์ 2 รายการ รวมถึงรายการที่มีพิธีกรเป็นดารา นอกจากนี้จะด้วยความบังเอิญหรืออะไรก็ไม่ทราบที่มีพิธีกรบางส่วนปรากฏในรายการลักษณะเดียวกันกับช่องอื่น เช่น รายการท่องเที่ยวที่ดำเนินรายการโดยเพชร (แฝดเพชร-พลอย), อ.เผ่าทอง ที่ใช้ความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ในรายการเชิงเที่ยวไปถามไป, น้าเน็กที่ดำเนินรายการสนทนา เช่นเดียวกับรายการของอีกช่อง ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมา นั่นคือรายการของช่อง PPTV นะ
ต่อมา เรามาพูดถึงช่อง SD กันบ้าง ช่องแรกที่จะกล่าวถึงคือ Bright TV ซึ่งผมเห็นแว้บแรก ผมนึกว่า Voice TV เสียอีก ด้วยลักษณะอัตลักษณ์ที่คล้าย ๆ กัน ช่องนี้ไม่พยายามทำตัวให้หวือหวา แม้กระทั่งช่องทางติดต่อยังแทบจะไม่มีเลย ความประทับใจแรกที่เห็นคือ ความบ้านของสถานี ไม่มีกราฟฟิควุ่นวายฉูดฉาด ใช้วิธีเดิม ๆ เช่น จอ LCD ขนาดใหญ่แสดงกราฟฟิคต่าง ๆ มีผู้ประกาศเดินไปมาส่งบทกัน นอกจากนี้มีจุดแตกต่างจากช่องอื่นก็คือ "ข่าวภาคภาษาจีน" ซึ่งผมยังไม่เคยเห็นโทรทัศน์ไทยช่องใดทำมาก่อน (ข่าวภาคภาษาอังกฤษมีการผลิตออกอากาศมาก่อนแล้วในหลาย ๆ ช่อง) ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะรุ่งหรือร่วงแต่ก็ขออวยพรให้รักษารายการทางเลือกนี้ไว้ต่อไป ส่วนรายการอื่น ๆ ที่ผมเห็นตัวอย่างรายการ พบรายการ DeScience และ Animal Speak ซึ่งขณะนี้ออกอากาศทาง ThaiPBS และ Mahidol Channel ด้วย จึงเข้าใจว่าเนื่องจากเป็นบริษัทเดียวกันที่ผลิตจึงเอามาเติมในผังของช่องนี้ด้วย (รายการเขาดีนะ แต่ถ้าแทรกพักโฆษณาเข้าไปไม่แน่ใจว่าจะเสียอรรถรสไปขนาดไหน เพราะใน ThaiPBS ไม่มีโฆษณาคั่น)
ช่องน้องใหม่อีกช่องคือ MONO29 เป็นช่องบันเทิงจริง ๆ (เพิ่งเปิดตัวผังรายการใหม่เมื่อวันที่ 29 เมษายนนี้) เน้นรายการภาพยนตร์, ละครชุดเป็นหลัก แต่สิ่งที่ประหลาดใจคือ "ข่าว" ของช่องนี้ มีรายการเล่าข่าวภาคดึกชื่อ Midnight Report ที่ใช้พิธีกร 3 คน แต่ละคนสำเนียงภาษาอังกฤษจัดว่าดีเลยทีเดียว แล้วข่าวที่เลือกมาก็ค่อนข้าง "จริงจัง" (ไม่ใช่ข่าวบันเทิง) แถมด้วยภาพรายการที่ถือว่า "คมชัด" ในแบบของ SD สะท้อนว่าเขาก็ค่อนข้างใส่ใจเรื่องคุณภาพของภาพเหมือนกัน ไม่เบลอไม่บวมแบบหลาย ๆ ช่อง
กล่าวถึงน้องใหม่แล้ว คงต้องกลับมากล่าวถึงช่องเก่ากันบ้าง ThaiPBS ได้สูญเสียทีมผู้ประกาศไปชุดใหญ่เลย ทั้งหมดยกทัพกันไปอยู่ช่อง 3SD จนผมนึกว่าช่องนี้กลายเป็น iTV ไปแล้ว แต่ก็คงไม่ค่อยน่าเป็นห่วงมากถ้านโยบายของช่องไม่ยึดติดกับตัวบุคลากร สามารถสร้างคนใหม่มาทำงานได้ ในส่วนของรายการเราก็อาจจะคาดหวังว่าเราอาจจะไม่ได้เห็นผู้ผลิตรายเดิมกลับมาผลิตรายการในช่องนี้แล้ว เนื่องจากอาจจะมองว่าผลิตรายการให้ช่องอื่นอาจจะทำงานได้ง่ายกว่า (รวมถึงสร้างรายได้ได้มากกว่า) ซึ่งจุดนี้ก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงพอสมควรว่าผังรายการอาจจะว่างมากขึ้นจนต้องหาสารคดีต่างประเทศมาออกอากาศแทน เวลาคงเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าจะมีผู้ผลิตที่แกร่งพอจะทำตามเงื่อนไขการผลิตรายการของช่องนี้ได้หรือไม่
ช่อง 5 ก็เป็นอีกช่องที่สูญเสียผู้ประกาศไปเยอะ แต่ก็ยังดูขยับตัวค่อนข้างช้า ผังรายการที่ออกอากาศในขณะนี้ยังต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับเงื่อนไขของ กสทช. รวมถึงยังต้องปรับปรุงรายการให้ออกอากาศด้วยระบบความคมชัดสูง (ซึ่งตอนนี้มีแต่รายการข่าวอย่างเดียว) คงต้องให้กำลังใจครับ หวังว่าเขาจะผลิตรายการออกอากาศได้คุ้มค่ากับความเป็น HD และมีเนื้อหาที่น่าสนใจพอให้ยังมีฐานผู้ชมรับชมต่อไป
โดยรวม แค่ยกแรกนี้เราก็พอจะเห็นว่าแรงดึงดูดของสื่อทุนหนา สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับสื่อเดิมพอสมควร เราได้เห็นรายการโทรทัศน์ใหม่ ๆ กับสถานีโทรทัศน์ที่มีรูปแบบใหม่ซึ่งยังไม่สามารถประเมินกระแสตอบรับได้ คงต้องให้เวลาในการขยายฐานผู้ชมออกไปอีกซักระยะเราจึงจะได้เห็นฤทธิ์เดชของความเชื่อความคิดใหม่ ๆ ว่าจะมีผลกระทบสู่สังคมอย่างไรซึ่งปรากฏการณ์นี้น่าจะรุนแรงแน่ ๆ เพราะมันไม่ได้ส่งผลกับแค่ผู้รับชมเดิม (ที่อาจจะเป็นแค่นักเลงหลังแป้นพิมพ์) แต่คราวนี้ชาวบ้านร้านตลาดจะได้รับชมกันหมด ติดตามกันต่อไปครับ