Skip to main content

ทำไมวรรณยุกต์ลอย? แล้วจะแก้อย่างไร?

Submitted by ezybzy on

ถามผม ผมก็ตอบไม่ได้หรอกนะ :) แต่ถ้าดูตามวิธีที่ระบบคิด น่าจะได้ตามนี้

โดยปรกติข้อมูลที่เราพิมพ์บันทึกไว้ในระบบมันจะถูกเก็บเป็นรหัสอักษร ซึ่งมีหลายมาตรฐานทั้งแบบ ASCII เดิม จนปัจจุบันก็คือ Unicode สมมติ เราพิมพ์ข้อความ "ใช้ตั้งโต๊ะ" ตัวระบบก็จะบันทึก "ใ ช ้ ต ั ้ ง โ ต ๊ ะ" ไปดื้อ ๆ เลย (ระบบไม่ได้บันทึกข้อความตัวอย่างโดยคำนึงถึงระดับความสูงของวรรณยุกต์) เมื่อต้องนำข้อความมาแสดงผลบนหน้าจอ ระบบปฏิบัติการผ่านทางระบบแสดงผลข้อความจะทำการเลือกอักขระมาจากแบบอักษรเพื่อแสดงผล ณ จุดนี้ ข้อความ "ใช้ตั้งโต๊ะ" นี้อาจจะถูกแสดงผลในรูปแบบที่ไม้โทและไม้ตรีของคำว่า "ใช้" และ "โต๊ะ" ลอยอยู่ในระดับสูงระดับเดียวกับคำว่า "ตั้ง"

แน่นอนเห็นอย่างนี้แล้ว เราก็ย่อมรู้สึกว่า มันไม่เหมือนที่เราเขียนนะ เพราะปรกติเวลาเราเขียน เราจะพยายามวางไม้โทและไม้ตรีไว้แค่เหนือระดับตัวอักษรหรือสระบนเท่านั้น เราคงไม่ได้วางลอย ๆ ไว้แบบนั้น ตรงนี้เกิดเพราะอักขระปริยายของวรรณยุกต์เหล่านี้ เป็นอักขระที่อยู่ในระดับเหนือสระบน (นึกถึงเครื่องพิมพ์ดีดโบราณ) เพื่อที่อย่างน้อยหากไม่มีตัวช่วยอะไรเลย วรรณยุกต์จะไม่ถูกสระบนบัง

ระบบแสดงผลข้อความบางระบบ อาจจะมีความสามารถในการตรวจสอบเงื่อนไขอย่างง่าย เช่น เมื่อทราบว่าตัวอักขระหน้าวรรณยุกต์นั้นไม่ได้เป็นสระบน ระบบจะเลือกอักขระของวรรณยุกต์ที่อยู่ในระดับเหนือตัวอักษรมาใช้แทนที่จะเลือกอักขระของวรรณยุกต์ที่อยู่ระดับเหนือสระบน

แต่เมื่อมันเป็นแค่บางระบบ เมื่อแบบอักษรต้องรองรับระบบอื่น ๆ ก็จำเป็นต้องพัฒนา "อะไรบางอย่าง" ในแบบอักษรให้สนับสนุนวิธีการของระบบที่แตกต่างไปด้วย อย่างเช่นบางระบบความสามารถที่จะตรวจสอบเงื่อนไขเมื่อเจออักขระต่อไปนี้ (a) ตามด้วยอักขระตัวต่อไปนี้ (b) ให้เปลี่ยนการแสดงผลอักษระตัวต่อไปนี้ (b) เป็นอีกตัว (c) แทน

ทีนี้แล้วอะไรคือ "อะไรบางอย่าง"? ในแบบอักษรยุคใหม่ มันไม่ได้มีแค่อักขระอย่างเดียวแล้ว แต่มันยังมีความสามารถพิเศษที่สามารถเขียนสั่งแนบไปได้ เพื่อช่วย "ระบบแสดงผลข้อความ" ให้สามารถแสดงผลออกมาได้อย่างเหมาะสม อย่างของ OS X มีสิ่งที่เรียกว่า AAT (Apple Advanced Typography) เป็นส่วนเสริม หรืออย่างระบบอื่น ๆ ที่สนับสนุน OpenType เต็มรูปแบบก็ใช้งานความสามารถตามข้อกำหนดของ OpenType ได้เลย (รู้สึกจะเรียกว่า Ligatures นะ)

ทีนี้คงจะเป็นมุมมองที่ว่า เราจะยึดระบบ หรือจะให้ระบบหมุนรอบแบบอักษรแทน ถ้าไม่อยากให้วรรณยุกต์ลอย เราจะแก้ระบบให้มันสอดคล้องกับแบบอักษร หรือเราจะแก้แบบอักษรให้มันเข้ากับกระบวนการวิธีคิดของระบบล่ะ?

ส่วนกรณีบางแบบอักษร เช่น Thonburi บน OS X มีปัญหากับไม้ตรีระดับเหนือสระบน อันนั้นเป็นความชุ่ยของคนทำอักขระไม้ตรีระดับเหนือสระบน เนื่องจากได้กำหนดระดับความสูงของอักขระดังกล่าวต่ำเกินไป ซึ่งใช้เวลาอยู่หลายปีกว่า Apple จะปล่อยแบบอักษรที่ได้แก้ไขเรื่องนี้ออกมาให้เราใช้งาน ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องด้านบนเท่าไร เพราะแบบอักษร Thonburi มี "อะไรบางอย่าง" ที่ทำให้สามารถแสดงวรรณยุกต์ไทยในข้อความภาษาไทยได้อย่างถูกต้องอยู่แล้ว

เมื่อก่อน Apple ใช้วิธีแก้ปัญหา Thonburi ด้วยการ "ดึงวรรณยุกต์" ผ่านโปรแกรมจัดการสิ่งพิมพ์ ซึ่งก็นับถือเลยว่าทนทำมาได้อย่างไรเป็นปี ๆ แทนที่จะแก้แบบอักษรให้ถูกต้องทีเดียวเรื่องก็จบแล้ว :)

Tags