Skip to main content

เมื่อ Fusion Drive งอแง กับ 1 สัปดาห์ในการกู้คืน

Submitted by ezybzy on

คืนหนึ่งในเดือนกันยายน iMac เครื่องนี้ถูกเปิดใช้งานตามปรกติ แต่แล้วก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นนั่นก็คือ Kernel Panic แต่เครื่องก็ Restart กลับมาเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทิ้งไว้แค่ Log ที่แจ้งว่ามีปัญหากับ File system ในเครื่อง และเครื่องที่รู้สึกว่าช้าลงอีกนิดหน่อย เมื่อสัปดาห์ก่อน Apple ได้ปล่อย macOS Sierra GM ให้นักพัฒนา/ผู้สนใจได้มาติดตั้งลงเครื่อง และการมาถึงของ macOS Sierra นี้ทำให้พบว่าปัญหาที่หลบซ่อนอยู่ในสภาพที่ดูเหมือนเป็นปรกตินี้เมื่อพยายามติดตั้ง macOS Sierra ลงเครื่องแล้วระบบแจ้งเตือนว่าไม่สามารถติดตั้งได้เนื่องจากพบปัญหาบนดิสก์

ปัญหาเกิดตอนไหน?

ทุกครั้งที่มีการติดตั้ง OS X/macOS ด้วยโปรแกรมจากทาง Mac App Store ในขั้นตอนการติดตั้งจะมีการทำ Verify Disk (ซึ่งสามารถใช้ Disk Utility ตรวจสอบก่อนได้) จากสภาพอาการเครื่องแจ้งไว้ตอนต้นนั้นในขั้นตอนการ Verify Disk พบปัญหาตามข้อความประมาณนี้

Unable to bootstrap transaction group XXXX: inconsistent crosscheck, No valid commit checkpoint found, The volume YYYY was found corrupt and needs to be repaired, Incomplete or inconsistent CoreStorage Physical Volume set

อาการนี้เข้าใจว่าน่าจะเป็นอาการเฉพาะกับเครื่องที่ทำ Fusion Drive ซึ่งมีความพิเศษจน Disk Utility ของ Apple เองก็ไม่สามารถจัดการปัญหาได้ เมื่อลองเข้า Disk Utility บน Recovery Drive ของเครื่องสั่งทำ First-Aid ข้อความแนะนำที่ได้มาจากระบบคือ Backup แล้วกู้คืน ดูแล้วดิสก์คงไม่ได้มีปัญหาทางกายภาพแต่น่าจะเป็นปัญหาทาง Software เสียมากกว่า เพราะเครื่องก็ยังใช้งานได้เหมือนเดิม

สรุปปัญหาตอนนี้ก็คือ iMac เครื่องนี้จะไม่สามารถทำอะไรก็ตามที่ต้อง Verify Disk ให้ผ่านได้ ต้องล้างเครื่องลงใหม่สถานเดียว (ถ้าไม่อยากเสียเงินซื้อ Tool ที่อาจจะแก้ปัญหานี้ได้) โชคดีที่ระบบนี้มี Time Machine อยู่แล้ว ก็คงไม่มีปัญหาอะไรหรอกมั้ง? นั่นเป็นความคิดที่ถูกเพียงครึ่งเดียว ยังมีปัญหาอื่น ๆ ที่ติดพันกับอาการนี้

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Time Machine

เมื่อสอบถามไปยัง Apple Support เพื่อต้องการคำแนะนำแบบลัดอย่างถูกวิธี เนื่องจากหากต้องการแก้ไขให้ถูกจุดจริง ๆ อาจจะต้องย้อนกลับไปถึงการติดตั้ง OS X ที่มากับเครื่องนี้ (นั่นคือ Mavericks) ซึ่งค่อนข้างจะเสียเวลาในการดาวน์โหลดอย่างมาก วิธีลัดที่น่าจะดีที่สุดก็คือกู้คืนจาก Time Machine โดยสั่งกู้จาก Recovery Drive ซึ่งเข้าใจเอาเองว่าเป็นการ Format Disk ส่วนที่มีปัญหาให้ แล้วจึงคัดลอกข้อมูล Backup กลับมาลงที่เดิมแบบเป๊ะ ๆ จบกระบวนการนี้ก็ได้ OS X ที่อยู่ในสภาพเกือบเหมือนเดิม (ที่ไม่เหมือนเดิมเพราะว่ามีข้อมูลบางส่วนที่ตั้งใจไม่ให้ Time Machine ทำ Backup ให้) แต่พอจะติดตั้ง macOS Sierra ใหม่ ก็พบอาการ Verify Disk ไม่ผ่านเหมือนเดิม แปลว่ามันไม่ได้แก้ปัญหาให้จริง

นั่นจึงเป็นข้อสรุปว่า การกู้ข้อมูลผ่าน Recovery Drive นั้น ไม่ได้ Format Disk ให้จริง เป็นเพียงการลบทุกอย่างออกจาก Disk เดิมเท่านั้น

ความช้าอันน่าตกใจ

ด้วยไฟล์ Backup ขนาด 1TB กว่า ๆ ผ่านทางระบบเครือข่ายที่บ้าน ซึ่ง ณ ตอนนี้ก็ยังไม่เข้าใจว่ามันวิ่งผ่าน Ethernet หรือ Wifi กันแน่ ทำให้ใช้เวลากู้คืนถึง 3 วัน 3 คืนต่อเนื่อง เปรียบเทียบกับข้อมูลส่วนที่ไม่ได้ให้ Time Machine ทำ Backup ขนาด 400 กว่า GB ที่คัดลอกผ่าน Thunderbolt ลงดิสก์ 5400 RPM ซึ่งใช้เวลาคัดลอกเพียงชั่วโมงเดียวเท่านั้น ความเร็วที่แตกต่างกันนี้คงมีปัญหาอะไรอีกซักอย่างแน่ (แต่ก็ยังไม่มีคำตอบว่ามันไปเกิดคอขวดที่ใด)

Disk Utility ไม่รองรับการกู้ Fusion Drive

เมื่อทางสั้นไม่ได้ก็ต้องไปทางยาว นั่นคือติดตั้ง OS X Mavericks ด้วยวิธี Internet Recovery ซึ่งในกระบวนการแรกคือการดาวน์โหลด Recovery Drive รุ่นของ Mavericks มาเก็บไว้ในหน่วยความจำของเครื่อง ในขั้นตอนนี้ไม่มีอะไรพลิกแพลง กดปุ่มลัดเพื่อเริ่ม Internet Recovery ก็จบ ปัญหาก็มาอยู่ตรง Disk Utility ซึ่งไม่อนุญาตให้เราจัดการกับ Partition ของ Fusion Drive เลย ซึ่งนั่นหมายความว่า Disk ที่มีปัญหานี้ก็ไม่สามารถล้างแล้วแบ่งใหม่ได้อยู่ดี

การล่ม Fusion Drive ผ่านทาง Terminal

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดครั้งแรกในโลกนี้ และนี่ก็ไม่ใช่ปัญหาที่เจาะจงกับ macOS Sierra (ซึ่ง ณ ขณะที่ติดต่อกับ Apple Support ทางนั้นยังไม่สามารถให้คำตอบเกี่ยวกับ macOS Sierra ได้) ความคิดที่มีในตอนนั้นคือ มันน่าจะมีคำสั่งทาง Terminal ที่จัดการอาการเหล่านี้ได้ เพียงแต่คงไม่ใช่สั่งทีเดียวจบน่าจะมีหลายขั้นตอน ใน stackoverflow มีผู้เขียนแนะนำวิธีทำค่อนข้างละเอียด เมื่อทำตามจะได้ Fusion Drive แสนสะอาด ไม่มีอะไรเลยแม้กระทั่ง Recovery Drive ของเครื่อง

ในตอนนั้นเองอาจมีข้อสงสัยว่า "แล้วไม่ได้ทำตัวติดตั้ง macOS Sierra สำรองไว้เหรอ?" จริง ๆ ก็ทำแล้ว เพียงแต่ว่าไม่ทราบว่าเกิดข้อผิดพลาดใด ตัวติดตั้งนั้นกลับไม่สามารถนำมาติดตั้งบนเครื่องนี้ได้ ก็เลยทำให้ต้องย้อนกลับไป OS X Mavericks ไปก่อน

จาก Mavericks ถึง Sierra

ขั้นตอนการติดตั้ง Mavericks ถึง Sierra นี้ง่ายและซื่อตรง นั่นคือติดตั้ง Mavericks ผ่าน Internet Recovery แล้วก็ไม่ต้องไปทำอะไรกับเครื่องมาก ไม่ต้อง Sign-in Apple ID อะไรทั้งสิ้น รอจนเจอ Mac App Store แล้วค่อย Sign-in Apple ID เพื่อดาวน์โหลดตัวติดตั้ง macOS Sierra แล้วก็ติดตั้งให้จบ ส่วน Account ประจำเครื่องตอนนั้นก็ไม่ต้องไปจริงจังอะไรเพราะสุดท้ายก็จะโดนล้างในภายหลังอยู่ดี เมื่อเสร็จสิ้นการติดตั้ง macOS Sierra ให้เปิด Migration Assistant แล้วสั่งให้เชื่อมต่อกับ Time Machine ตัวเดิม (ตอนนี้ก็มีงง ๆ ว่าทำไมมัน Mount ไม่เจอ) เพื่อกู้คืนทุกอย่างกลับมา ข้อแตกต่างในขั้นตอนการกู้เครื่องคืนจาก Time Machine ด้วย Migration Assistant บน OS กับ Recovery Drive นั้นคือ บน OS จะไม่กู้คืนไฟล์ระบบใด ๆ เลย เพราะถือว่ามี OS ในเครื่องอยู่แล้ว ส่วนใน Recovery Drive นั้นจะลบทุกอย่างออกแล้วเอาไฟล์ระบบใน Backup กลับมาให้ด้วย ซึ่งเพิ่มระยะเวลาในการกู้คืนอีกนิดหน่อย

ความเจ็บปวดขณะกู้ระบบคืนจาก Time Machine

ในขั้นตอนแรกที่กู้คืนระบบนั้น ไม่มีการแจ้งความเร็วในการดำเนินการใดเลย มีเฉพาะการแจ้งเวลาที่คาดว่าจะเสร็จเท่านั้น แต่ในการกู้คืนระบบด้วย Migration Assistant บน macOS Sierra นั้น มีการให้ข้อมูลทั้งเวลาและความเร็วในการถ่ายโอนไฟล์ มีสิ่งที่สะดุดใจอย่างเดียวคือ ตัวเลขความเร็วที่ได้ตลอดการกู้คืนนั้นอยู่ในช่วงไม่ขึ้นตัวเลขเลย (แล้วเวลาก็ดูเยอะผิดปรกติ) ไปจนถึงตัวเลขมากสุดคือ 4MB/s (ตอนแรกสุดที่เริ่ม แสดงตัวเลข 26MB/s แล้วก็ลดลงไปจนมาสูงสุดแค่ 4) ทั้งที่ iMac เครื่องนี้ต่อกับ Time Machine ด้วย Gigabit Ethernet และ Wifi (ซึ่งทั้งหมดระยะทางห่างกันไม่ถึง 2 ไม้บรรทัด) ซึ่งทางทฤษฎีน่าจะทำตัวเลขได้สูงกว่านี้มาก (10-20 MB/s) จึงทำให้ต้องเสียเวลารอกู้อีก 3 วัน 3 คืนอีกครั้ง เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์อื่นมาช่วยตรวจสอบปัญหาจึงไม่สามารถรุบุได้ว่า การถ่ายโอนข้อมูลนั้นวิ่งผ่านทาง Ethernet หรือ Wifi กันแน่ แต่ความเร็วของอินเตอร์เน็ตบ้านก็ไม่ได้รับความกระทบกระเทือนจากการถ่ายโอนข้อมูลนี้ ยังคงสามารถดู YouTube บน Apple TV (ผ่าน Wifi) ได้อย่างไหลลื่นปรกติสุขดี

ปัญหาอื่นหลังจากการกู้คืนระบบ

ใช่ว่ากู้คืนระบบแล้วทุกอย่างจะกลับมาเป็นดังเดิมจริง อะไรต่าง ๆ ที่ผูกกับ Apple ID ของเรานั้น ต้องมาทำการกรอกรหัสผ่านใหม่อีกครั้ง นั่นคือ iCloud รวมถึง iTunes Store ที่หากไม่ได้ Deauthorize เครื่องออกก่อนที่จะกู้คืน มันกลับคิดว่าคอมพิวเตอร์เครื่องเดิมนี้ไม่ใช่เครื่องเดิม ทำให้เสียสิทธิ์ในการ Authorized computer ไปอีกเครื่อง รวมถึง iOS device ที่เคยทำ iTunes Wifi sync ไว้ก็จะไม่สามารถ Backup ได้ตามเดิม ต้องมาเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่อีกครั้ง จึงจะสามารถใช้งาน iTunes Wifi sync ได้ตามเดิม

ตอนนี้ก็ได้เครื่องกลับมาสู่สถานะที่พร้อมลุยงานต่อแล้ว และนี่ก็จะครบประกัน AppleCare แล้ว ถือว่า iMac เครื่องนี้ไม่ค่อยมีปัญหากวนใจอะไรมากนอกจากเรื่องจอที่เปลี่ยนปีละหน (ถ้าปีนี้ได้เปลี่ยนอีกก็คงจะได้เปลี่ยนเครื่องสมใจแล้ว)

เชิงอรรถ

Fusion Drive

Fusion Drive เป็นวิธีแก้ปัญหาการตอบสนองของเครื่องกับปริมาณความจุ/ราคา ที่ถือว่าฉลาดของ Apple กล่าวคือ ทางผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องรู้อะไรเลย รู้เพียงว่าที่เครื่องมันตอบสนองได้ไว เพราะไฟล์/ระบบที่ใช้งานบ่อย ๆ ถูกเก็บอยู่บน SSD ซึ่งมีความเร็วสูงกว่าดิสก์จานหมุน แต่ราคาก็แพงกว่ามาก (ในยุคที่เทคนิคนี้เกิดขึ้น) ส่วนอะไรที่ใช้งานไม่บ่อยก็จะถูกย้ายไปอยู่บนดิสก์จานหมุนที่ความจุ/ราคาถูกกว่ามาก ฟีเจอร์นี้เป็นฟีเจอร์เฉพาะกับเครื่อง iMac และ Mac mini (เว้นแต่จะไปเอา MacBook Pro, Mac Pro รุ่นเก่ามาทำเองนะ)

Time Machine

ระบบทำ Backup ของ OS X/macOS สามารถ Backup ได้แทบจะทุกอนูของเครื่องเลย ใช้งานคู่กับ External Harddrive, Time Capsule หรือ NAS ที่มีฟังก์ชั่นจำลองตัวเองเป็น Time Capsule ความเร็ว/ช้าในการดึงข้อมูลขึ้นกับสายสัญญาณที่เชื่อมต่อ อาทิ Thunderbolt, Firewire, USB, Ethernet หรือ Wifi

ลิงค์วิธีแก้อย่างเป็นทางการจาก Apple

How to fix a split Fusion Drive